วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แนะนำโรงเรียน

ประวัติโรงเรียนบ้านนาจาน

โรงเรียนบ้านนาจาน เป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาอุดรธานี เขต 3 กระทรวงศึกษาธิการ เดิมชื่อโรงเรียนประชาบาลตำบลบ้านดุง 4 วัดค้อเขียว ตั้งอยู่ศาลาการเปรียญวัดบ้านค้อเขียว ตำบลบ้านดุง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ตั้งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่จับจองใหม่ ( ที่ตั้งปัจจุบัน )เมื่อปี พ.ศ. 2495 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ โรงเรียนบ้านนาจาน ” ปัจจุบันทำการสอนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
โรงเรียนบ้านนาจาน เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลาง มีพื้นที่ทั้งหมด 27 ไร่ 3 งาน 69 ตารางวา และให้บริการรับนักเรียนจากเขตบริการของโรงเรียน 8 หมู่บ้าน คือ
1.บ้านหนองแต้ หมู่ที่ 5 ตำบลโพนสูง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
2.บ้านหนองแต้ หมู่ที่ 16 ตำบลโพนสูง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
3.บ้านโชคอำนวย หมู่ที่ 6 ตำบลโพนสูง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
4.บ้านนาจาน หมู่ที่ 7 ตำบลโพนสูง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
5.บ้านโนนสำราญ หมู่ที่ 8 ตำบลโพนสูง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
6.บ้านค้อเขียว หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านชัย อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
7.บ้านโนนผักหวาน หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านตาด อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
8.บ้านคำภูเงิน หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านตาด อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
โรงเรียนบ้านนาจาน มีอาคารเรียน 3 หลัง โรงฝึกงานจำนวน 1 หลัง อาคารเอนกประสงค์จำนวน 1 หลัง ห้องปฏิบัติการทางภาษา 1 ห้อง ห้องวิทยาศาสตร์ 1 ห้อง อาคารห้องสมุด 1 หลัง อาคารอำนวยการ 1 หลัง โรงอาหาร( ชั่วคราว ) 1 หลัง อาคารศิลปะ 1 หลัง บ่อปลา 4 บ่อ สนามฟุตบอล 1 สนาม สนามบาสเกตบอล 1 สนาม สนามตระกร้อ 1 สนาม สนามวอลเลย์บอล 1 สนาม นอกจากนี้ โรงเรียนบ้านาจานยังได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนปฏิรูปการศึกษาปี 2539 และได้รับรางวัลโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ระดับเหรียญทองของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ปีการศึกษา 2553 มีข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษา จำนวน 32 คน แยกเป็นชาย 12 คน หญิง 20 คน มีนักเรียนทั้งสิ้น 674 คน ปัจจุบันมีนายสายัณห์ ศรีทุมมา เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

วิสัยทัศน์ (Vision)
ภายในปีการศึกษา 2555 โรงเรียนบ้านนาจานจะพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาสู่มืออาชีพ พัฒนาอาคารสถานที่ แหล่งเรียนรู้ และสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย น่าอยู่น่าเรียน ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศด้านคุณธรรม ดนตรี กีฬา วิชาการ และงานอาชีพ

พันธกิจ (Mission)
1.จัดการศึกษาปฐมวัยเพื่อพัฒนาเด็กระดับก่อนประถมศึกษาให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาปฐมวัย
2.จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อพัฒนาผู้เรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน
3.ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านวิชาการและวิชาชีพ ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนาตนเองสู่มืออาชีพ
4.ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาผู้เรียนให้เต็มศักยภาพ จัดการประกวด การแสดง การแข่งขันความเป็นเลิศด้านคุณธรรม ดนตรี กีฬา วิชาการ และงานอาชีพ
5.พัฒนาอาคาร สถานที่ แหล่งเรียนรู้ และสภาพแวดล้อมให้เพียงพอ ปลอดภัย น่าอยู่ น่าเรียน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม
6.พัฒนาระบบการบริหารและการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน และเปิดโอกาสให้บุคลากร ชุมชน หน่วยงาน องค์กรท้องถิ่นมี ส่วนร่วม

เป้าประสงค์ (Goal)
1.เด็กปฐมวัยทุกคน ได้รับโอกาส ประสบการณ์ และการพัฒนาให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาปฐมวัย ระดับดีขึ้นไป
2.นักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นทุกคน ได้รับโอกาส และเรียนรู้ เต็มศักยภาพและมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับดีขึ้นไป
3.ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาด้านวิชาการและวิชาชีพ สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ตามเกณฑ์มาตรฐาน ระดับดีขึ้นไป
4.ผู้เรียนได้รับการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาเต็มศักยภาพ และมีความเป็นเลิศด้านคุณธรรม ดนตรี กีฬา วิชาการ และงานอาชีพ
5.โรงเรียนมี อาคาร สถานที่ แหล่งเรียนรู้และสภาพแวดล้อมเพียงพอ ปลอดภัย น่าอยู่น่าเรียน
6.ระบบการบริหารและการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพและมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานในระดับดีขึ้นไป
7.บุคลากร หน่วยงาน องค์กร ชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย มีความพึงพอใจ ในระดับมากขึ้นไป

วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์

แนวทางการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์
                  การจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์นั้นนอกจากจะใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ โครงงานประวัติศาสตร์              แล้วยังมีวิธีสอนอื่นอีกหลากหลายที่สามารถนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในวิชาประวัติศาสตร์เพื่อให้บรรลุผล            ตามเป้าหมายตามมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลางของสาระประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นสาระที่  4 
ของกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ดังตัวอย่างวิธีสอนต่อไปนี้
                    วิธีสอนแบบแก้ปัญหา (Problem solving method)
                         วิธีสอนแบบแก้ปัญหาเป็นวิธีการสอนที่ฝึกให้ผู้เรียนคิดแก้ปัญหาอย่างมีขั้นตอน โดยมีการประยุกต์ใช้ความรู้และประสบการณ์เดิมรวมกับความรู้ใหม่ และกระบวนการต่างๆ เพื่อใช้แก้ปัญหา   วิธีสอนแบบแก้ปัญหาสามารถแบ่งเป็นขั้นตอนได้ ดังนี้
                    1. ขั้นกำหนดปัญหาและวิเคราะห์ปัญหา
                   ผู้สอนและผู้เรียนอาจร่วมกันตั้งปัญหา ปัญหาที่นำมานั้นอาจมาจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ปัญหา ที่มาจากความสนใจของผู้เรียนเป็นส่วนใหญ่ ปัญหาที่มาจากบทเรียน โดยผู้สอนกำหนดขึ้นมาเอง โดยพิจารณาจากบทเรียนว่า เนื้อหาตอนใดเหมาะสมที่จะนำมาเป็นประเด็นในการตั้งปัญหาเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ ปัญหาที่เกี่ยวกับสังคมเป็นปัญหาที่พบเห็นกันทั่วไปในสภาพแวดล้อมของตัวผู้เรียน การหยิบยกมาเป็นปัญหาในการศึกษาย่อมจะเป็นสภาวะที่ทำให้ผู้เรียนเห็นว่ากำลังเผชิญกับปัญหาในชีวิตจริง ปัญหาที่เกิดจากประสบการณ์ของผู้เรียน ได้แก่ ปัญหากฎหมาย ปัญหาชีวิต ปัญหาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ  เมื่อกำหนดปัญหาแล้ว ผู้สอนเน้นให้ผู้เรียนทำความเข้าใจปัญหาที่พบในประเด็นต่าง ๆ เช่น ปัญหาถามว่าอย่างไร มีข้อมูลใดแล้วบ้าง ต้องการข้อมูลอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง การฝึกให้ผู้เรียนวิเคราะห์ปัญหาจะทำให้มีความเข้าใจปัญหามากขึ้น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในขั้นนี้ ผู้สอนอาจตั้งปัญหา ตั้งคำถามให้ผู้เรียนเกิดข้อสงสัย เช่น
- การใช้คำถาม
- การเล่าประสบการณ์หรือการสร้างสถานการณ์ให้เกิดปัญหา
- การให้ผู้เรียนคิดคำถามหรือปัญหา
- สาธิต เพื่อก่อให้เกิดปัญหา
                 2. ขั้นตั้งสมมติฐาน
                  การตั้งสมมติฐานเป็นการคาดคะเนคำตอบของปัญหา โดยใช้ความรู้และประสบการณ์ช่วยในการคาดคะเน ขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนการใช้เหตุผลในการคิดวิเคราะห์ปัญหาและการคาดคะเนคำตอบ พิจารณาแยกปัญหาใหญ่ออกเป็นปัญหาย่อย แล้วคิดอย่างเป็นระบบ ผู้เรียนจะพยายามใช้ความรู้ความเข้าใจ ประสบการณ์เดิมมาคิดแก้ปัญหา คาดคะเนคำตอบ แล้วจึงหาทางพิสูจน์ว่าคำตอบที่คิดกันขึ้นมานั้นมีความถูกต้องอย่างไร แนวทางการคิดเพื่อตั้งสมมติฐาน เช่น ปัญหานั้นน่าจะมีสาเหตุมาจากอะไร หรือวิธีการแก้ปัญหานั้นจะแก้ไขได้โดยวิธีใด
                  3. ขั้นวางแผนแก้ปัญหา
                   ขั้นนี้จะเป็นขั้นที่มีการวางแผน หรืออกแบบวิธีการหาคำตอบจากสมมติฐานที่ได้ตั้งไว้โดยศึกษาถึงสาเหตุที่เกิดปัญหาขึ้น และใช้เหตุผลในการคิดหาวิธีการแก้ปัญหาให้ตรงกับสาเหตุโดยหาวิธีการแก้ปัญหาหลาย ๆ วิธี แล้วใช้วิธีพิจารณาเลือกวิธีแก้ปัญหาวิธีที่ดีที่สุด เป็นไปได้มากที่สุด ในกรณีที่มีปัญหานั้นต้องตรวจสอบด้วยการทดลอง ก็ต้องกำหนดวิธีทดลองหรือตรวจสอบเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือที่จะใช้ให้พร้อม
                   4. ขั้นการเก็บและการรวบรวมข้อมูล
                    ขั้นการเก็บและรวบรวมข้อมูลนี้เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะศึกษาค้นคว้าความรู้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น ห้องสมุด   อินเทอร์เน็ต   ตำราเรียน   การสังเกต   การไปทัศนศึกษา   สัมภาษณ์ผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญ จากสถิติต่างๆ ในขั้นนี้ผู้เรียนจะใช้วิธีการจดบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อนำข้อมูลมาทดสอบสมมติฐาน
                    5. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูลและทดสอบสมมติฐาน
                    เมื่อได้ข้อมูลที่รวบรวมมาแล้ว ผู้เรียนก็นำข้อมูลนั้น ๆ มาพิจารณาว่าจะน่าเชื่อถือหรือไม่ประการใด เพื่อนำข้อมูลนั้น ๆ ไปวิเคราะห์และทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ว่าเป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่
                     6. ขั้นสรุปผล
                     เป็นขั้นที่นำข้อมูลมาพิจารณาแปลความหมายระหว่างสาเหตุกับผลที่เกิดขึ้น ผู้เรียนประเมินผลวิธีการแก้ปัญหาหรือตัดสินใจเลือกวิธีการที่ได้ผลดีที่สุดในการแก้ปัญหา หรือเป็นการสรุปลงไปว่าเชื่อสมมติฐานที่กำหนดไว้นั่นเอง ซึ่งอาจจะสรุปในรูปของหลักการที่จะนำไปอธิบายเป็นคำตอบ หรือวิธีแก้ปัญหา และวิธีการนำความรู้ไปใช้  อนึ่งในการสรุปผลนั้น เมื่อได้ข้อสรุปเป็นหลักการแล้ว ควรนำมาพิจารณาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่าน่าเชื่อถือหรือไม่
                                                                                                    ข้อมูลจาก  www.utqonline.com 

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ข้อมูลผู้จัดทำบล็อค

ชื่อ นายก่อพิสิษฐ์   นามสกุล  ว่องไว   
เกิดวันศุกร์ที่  8 มกราคม  พ.ศ. 2508  ภูมิลำเนาเดิม จังหวัดเพชรบูรณ์

ที่อยู่ปัจจุบัน

111  หมู่ที่ 8 ตำบลโพนสูง  อำเภอบ้านดุง  จังหวัดอุดรธานี

ที่ทำงาน
โรงเรียนบ้านนาจาน ตำบลโพนสูง อำภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี 41190

ประวัติรับราชการ
บรรจุครูเมื่อวันที่  2 กรกฎาคม  2530  โรงเรียนบ้านโนนสว่าง ตำบลป่าซาง
อำเภอผาขาว จังหวัดเลย
ปี 2533 ย้ายมาดำรงตำแหน่ง ที่โรงเรียนบ้านเหล่าหลวง ตำบลวังทอง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
ปี 2541 ย้ายไปดำรงตำแหน่ง ที่โรงเรียนบ้านกุดดู่อุดมวิทย์ ตำบลนาไหม อำเภอบ้านดุง
             จังหวัดอุดรธานี
ปี 2542 ย้ายไปดำรงตำแหน่ง ที่โรงเรียนบ้านนาจาน ตำบลโพนสูง อำเภอบ้านดุง
              สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 3
ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง ครู อันดับ คศ. 3  สาขา สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนบ้านนาจาน
             ตำบลโพนสูง อำเภอบ้านดุง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 3
              ปฏิบัติงานสอนวิชา ประวัติศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3

สถานภาพ สมรส  มีบุตร  2  คน