วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์

แนวทางการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์
                  การจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์นั้นนอกจากจะใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ โครงงานประวัติศาสตร์              แล้วยังมีวิธีสอนอื่นอีกหลากหลายที่สามารถนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในวิชาประวัติศาสตร์เพื่อให้บรรลุผล            ตามเป้าหมายตามมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลางของสาระประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นสาระที่  4 
ของกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ดังตัวอย่างวิธีสอนต่อไปนี้
                    วิธีสอนแบบแก้ปัญหา (Problem solving method)
                         วิธีสอนแบบแก้ปัญหาเป็นวิธีการสอนที่ฝึกให้ผู้เรียนคิดแก้ปัญหาอย่างมีขั้นตอน โดยมีการประยุกต์ใช้ความรู้และประสบการณ์เดิมรวมกับความรู้ใหม่ และกระบวนการต่างๆ เพื่อใช้แก้ปัญหา   วิธีสอนแบบแก้ปัญหาสามารถแบ่งเป็นขั้นตอนได้ ดังนี้
                    1. ขั้นกำหนดปัญหาและวิเคราะห์ปัญหา
                   ผู้สอนและผู้เรียนอาจร่วมกันตั้งปัญหา ปัญหาที่นำมานั้นอาจมาจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ปัญหา ที่มาจากความสนใจของผู้เรียนเป็นส่วนใหญ่ ปัญหาที่มาจากบทเรียน โดยผู้สอนกำหนดขึ้นมาเอง โดยพิจารณาจากบทเรียนว่า เนื้อหาตอนใดเหมาะสมที่จะนำมาเป็นประเด็นในการตั้งปัญหาเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ ปัญหาที่เกี่ยวกับสังคมเป็นปัญหาที่พบเห็นกันทั่วไปในสภาพแวดล้อมของตัวผู้เรียน การหยิบยกมาเป็นปัญหาในการศึกษาย่อมจะเป็นสภาวะที่ทำให้ผู้เรียนเห็นว่ากำลังเผชิญกับปัญหาในชีวิตจริง ปัญหาที่เกิดจากประสบการณ์ของผู้เรียน ได้แก่ ปัญหากฎหมาย ปัญหาชีวิต ปัญหาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ  เมื่อกำหนดปัญหาแล้ว ผู้สอนเน้นให้ผู้เรียนทำความเข้าใจปัญหาที่พบในประเด็นต่าง ๆ เช่น ปัญหาถามว่าอย่างไร มีข้อมูลใดแล้วบ้าง ต้องการข้อมูลอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง การฝึกให้ผู้เรียนวิเคราะห์ปัญหาจะทำให้มีความเข้าใจปัญหามากขึ้น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในขั้นนี้ ผู้สอนอาจตั้งปัญหา ตั้งคำถามให้ผู้เรียนเกิดข้อสงสัย เช่น
- การใช้คำถาม
- การเล่าประสบการณ์หรือการสร้างสถานการณ์ให้เกิดปัญหา
- การให้ผู้เรียนคิดคำถามหรือปัญหา
- สาธิต เพื่อก่อให้เกิดปัญหา
                 2. ขั้นตั้งสมมติฐาน
                  การตั้งสมมติฐานเป็นการคาดคะเนคำตอบของปัญหา โดยใช้ความรู้และประสบการณ์ช่วยในการคาดคะเน ขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนการใช้เหตุผลในการคิดวิเคราะห์ปัญหาและการคาดคะเนคำตอบ พิจารณาแยกปัญหาใหญ่ออกเป็นปัญหาย่อย แล้วคิดอย่างเป็นระบบ ผู้เรียนจะพยายามใช้ความรู้ความเข้าใจ ประสบการณ์เดิมมาคิดแก้ปัญหา คาดคะเนคำตอบ แล้วจึงหาทางพิสูจน์ว่าคำตอบที่คิดกันขึ้นมานั้นมีความถูกต้องอย่างไร แนวทางการคิดเพื่อตั้งสมมติฐาน เช่น ปัญหานั้นน่าจะมีสาเหตุมาจากอะไร หรือวิธีการแก้ปัญหานั้นจะแก้ไขได้โดยวิธีใด
                  3. ขั้นวางแผนแก้ปัญหา
                   ขั้นนี้จะเป็นขั้นที่มีการวางแผน หรืออกแบบวิธีการหาคำตอบจากสมมติฐานที่ได้ตั้งไว้โดยศึกษาถึงสาเหตุที่เกิดปัญหาขึ้น และใช้เหตุผลในการคิดหาวิธีการแก้ปัญหาให้ตรงกับสาเหตุโดยหาวิธีการแก้ปัญหาหลาย ๆ วิธี แล้วใช้วิธีพิจารณาเลือกวิธีแก้ปัญหาวิธีที่ดีที่สุด เป็นไปได้มากที่สุด ในกรณีที่มีปัญหานั้นต้องตรวจสอบด้วยการทดลอง ก็ต้องกำหนดวิธีทดลองหรือตรวจสอบเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือที่จะใช้ให้พร้อม
                   4. ขั้นการเก็บและการรวบรวมข้อมูล
                    ขั้นการเก็บและรวบรวมข้อมูลนี้เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะศึกษาค้นคว้าความรู้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น ห้องสมุด   อินเทอร์เน็ต   ตำราเรียน   การสังเกต   การไปทัศนศึกษา   สัมภาษณ์ผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญ จากสถิติต่างๆ ในขั้นนี้ผู้เรียนจะใช้วิธีการจดบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อนำข้อมูลมาทดสอบสมมติฐาน
                    5. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูลและทดสอบสมมติฐาน
                    เมื่อได้ข้อมูลที่รวบรวมมาแล้ว ผู้เรียนก็นำข้อมูลนั้น ๆ มาพิจารณาว่าจะน่าเชื่อถือหรือไม่ประการใด เพื่อนำข้อมูลนั้น ๆ ไปวิเคราะห์และทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ว่าเป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่
                     6. ขั้นสรุปผล
                     เป็นขั้นที่นำข้อมูลมาพิจารณาแปลความหมายระหว่างสาเหตุกับผลที่เกิดขึ้น ผู้เรียนประเมินผลวิธีการแก้ปัญหาหรือตัดสินใจเลือกวิธีการที่ได้ผลดีที่สุดในการแก้ปัญหา หรือเป็นการสรุปลงไปว่าเชื่อสมมติฐานที่กำหนดไว้นั่นเอง ซึ่งอาจจะสรุปในรูปของหลักการที่จะนำไปอธิบายเป็นคำตอบ หรือวิธีแก้ปัญหา และวิธีการนำความรู้ไปใช้  อนึ่งในการสรุปผลนั้น เมื่อได้ข้อสรุปเป็นหลักการแล้ว ควรนำมาพิจารณาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่าน่าเชื่อถือหรือไม่
                                                                                                    ข้อมูลจาก  www.utqonline.com 

2 ความคิดเห็น: